รถลาก หรือคนไทยเรียกว่า รถเจ๊ก เป็นยานพาหนะที่ใช้คนลาก

รถลาก หรือคนไทยเรียกว่า รถเจ๊ก เป็นยานพาหนะที่ใช้คนลาก ตัวรถมีลักษณะเป็นเกวียนที่มีสองล้อ รถลากเป็นที่นิยมในเมืองตางๆในเอเชีย อาทิ โยโกฮามา ญี่ปุ่น,ปักกิ่ง จีน, เซี่ยงไฮ้ จีน,ร่างกุ้ง พม่า กัลกัตตา มุมไบหรือบอมเบย์ อินเดีย และ บางกอก ไทย

รถลากในประเทศไทยหรือที่เรียกกันว่า รถเจ๊ก เพราะพาหนะประเภทนี้มีแต่คนจีนเป็นผู้มีอาชีพรับจ้างลาก ดั้งเดิมเป็นของญี่ปุ่น แต่แรกเมื่อในรัชกาลที่ 4 นั้น พวกพ่อค้าสำเภานำมาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ จึงโปรดฯให้ซื้อเข้ามาพระราชทานเจ้านาย และขุนนางผู้ใหญ่บ้าง สั่งซื้อกันเองบ้าง ใช้เป็นพาหนะส่วนพระองค์และส่วนตัว แต่ที่สั่งมาใช้วิ่งรับส่งคนโดยสารและบรรทุกของนั้น ผู้สั่งเข้ามาเป็นคนแรกชื่อ นายฮ่องเชียง แซ่โหงว ต้นรัชกาลที่ 5 เมื่อผู้คนนิยมกันมากขึ้น พระยาโชฎึกราชเศรษฐี พุก จึงตั้งโรงงานทำรถลากขึ้นในเมืองไทยเสียเองโดยสั่งช่างมาจากเมืองจีน รถลากรับจ้างเริ่มมีบนถนนมากขึ้น จนกระทั่งจำเป็นต้องควบคุม พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง จึงโปรดเกล้าฯให้ตราพระราชบัญญัติรถลาก ร.ศ. 120 พ.ศ. 2444 ขึ้น โดยมีพระราชปรารภว่า

“กรุงเทพพระมหานครในทุกวันนี้ มีรถคนลากสำหรับรับจ้างคนโดยสาร และรับบรรทุกของเดินในถนนหนทางทวียิ่งขึ้นเป็นอันมาก แต่รถที่ใช้นั้นไม่แข็งแรงมั่นคง แลไม่มีสิ่งที่สำหรับป้องกันอันตรายของผู้โดยสาร กับทั้งไม่สะอาดเรียบร้อยตลอดไปจนคนลากรถด้วย ย่อมเป็นที่รังเกียจรำคาญแก่ผู้ที่จะใช้รถ หรือผู้เดินทางในท้องถนนร่วมกัน อีกประการหนึ่ง คนที่ลากรถนั้น บางทีรับคนโดยสารหรือรับบรรทุกสิ่งของที่มากหรือหนักเกินกำลังรถที่จะพาไปได้ จนเป็นเหตุเกิดอันตรายแก่คนโดยสารแลคนเดินทางกับทั้งรถ แลไม่เป็นความเรียบร้อยในท้องถนนอีกด้วย”

พระราชบัญญัตินี้ บังคับให้ต้องจดทะเบียนรถ และต้องนำรถมาตรวจสภาพต่อเจ้าพนักงานจดทะเบียน หลังจดทะเบียนแล้ว เจ้าหน้าที่จะให้เลขหมายติดรถ และให้เครื่องหมายที่มีเลขตรงกันกับทะเบียนรถให้คนลากติดหน้าอกไว้ให้ตรงกัน บังคับให้จุดโคมไฟเวลากลางคืน และยังมีข้อบังคับปลีกย่อยอีกหลายข้อ เช่นห้ามบรรทุกศพคน ให้จอดพักรถตามที่พนักงานกำหนดไว้เท่านั้น ฯลฯ