วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร

วัดสุวรรณดารารามราชวรวิหาร ตั้งอยู่ริมป้อมเพชร อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอัยกาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดให้สร้างวัดนี้ขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ให้ชื่อว่าวัดทอง เป็นวัดของฝ่ายวังหน้า ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็โปรดเกล้าให้บูรณะวัดนี้ทั้งหมด จึงถือว่า วัดนี้เป็นวัดประจำราชวงศ์จักรี

ลักษณะสถาปัตยกรรมของวัด ตัวโบสถ์จะตกท้องช้าง ทำให้คล้ายท้องเรือสำเภา ซึ่งเป็นการเปรียบพระพุทธศาสนาดั่งนาวาธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของโบสถ์สมัยอยุธยา ภายในวัดมีจิตรกรรมฝาผนังรูปยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ต้นฉบับที่เคยเห็นกันในหนังสือเรียน วาดโดยพระยาอนุศาสน์จิตรกร จิตรกรเอกของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ด้านบนของผนังภายในพระอุโบสถ ยังรายล้อมไปด้วยภาพเทพพนมนับร้อยองค์ลอยอยู่ในวิมาน ที่มีขนาดลดหลั่นกันตามระยะใกล้-ไกล ตามลักษณะของทัศนียภาพแบบตะวันตก ที่เคยมีการวาดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อีกด้วย ส่วนด้านล่างของผนังเป็นภาพเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกและสุวรรณสามชาดก

ราชวงศ์จักรี เป็นราชวงศ์ที่ปกครองราชอาณาจักรสยามต่อจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจนถึงปัจจุบัน โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระนามเดิม ทองด้วง ทรงสืบเชื้อสายมาจากตระกูลขุนนางในสมัยกรุงศรีอยุธยา) ทรงสถาปนาราชวงศ์โดยการปราบดาภิเษกเมื่อ พ.ศ. 2325 ยุคของราชวงศ์นี้ เรียกว่า “ยุครัตนโกสินทร์”

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง

วัดกาญจนสิงหาสน์วรวิหาร เดิมชื่อ วัดทอง สร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏนามผู้สร้างและปีที่สร้าง แต่ตามประวัติที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า เมื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย มีพ่อค้าชาวจีนสองพี่น้อง แซ่ตัน ชาวบ้านเรียกกันว่า เจ้าขรัวเงินและเจ้าขรัวทอง’ได้เข้ามาตั้งรกรากค้าขายจนร่ำรวยแล้วจึงได้สร้างวัดขึ้นที่บริเวณสองฝั่งปากคลองนี้ คือ วัดเงินกับวัดทอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ วัดนี้ทรุดโทรมลงเป็นอย่างมาก สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารี พระชนนีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี โปรดให้ทำการบูรณะเสียใหม่ และโปรดให้สร้างกุฏิเพิ่มขึ้นเป็น ๓ คณะ คือ คณะกลาง สร้างเป็นกุฏิชนิด ๔ ห้อง ปลูกขวางทิศเหนือกับกุฏิชนิดแถว ๒ แถว แถวละ ๖ ห้อง โดยมีหอฉันอยู่ตรงกลาง และสร้างหอระฆังไว้ด้านหน้า ส่วนคณะตะวันออกและคณะตะวันตก สร้างเป็นหอฉันขวางทางทิศเหนือ ๒ คณะ ทางทิศใต้ สร้างหอพระไตรปิฏกอยุ่ติดกับกำแพง นอกจากนี้ ยังโปรดให้สร้างศาลาการเปรียญไว้ริมคลองหน้าพระอุโบสถ ศาลาสามหน้า และศาลา ๒ หลัง หลังหนึ่งตั้งอยู่หน้าปรก อีกหลังหนึ่งอยู่ข้างศาลาการเปรียญทางทิศตะวันออก พร้อมทั้งโปรดให้บูรณปฏิสังขรณ์ถาวรวัตถุอื่น ๆ จนครบบริบูรณ์

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้บูรณปฏิสังขรณ์เพิ่มเติม แล้วทรงสถาปนาวัดทองขึ้นเป็นพระอารามหลวง ทั้งยังทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเพื่ออุทิศถวายแด่ สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาคนารีด้วย

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๗ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามวัดเสียใหม่ว่า “วัดกาญจนสิงหาสน์” ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๐๖ โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์แล้วลงรักปิดทองพระประธานและฐานชุกชี นับจากนั้นมาก็ไม่ได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์อีกทำให้เสนาสนะชำรุดทรุดโทรมและหักพังลงเป็นส่วนมาก มีเพียงพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และศาลาสามหน้า ที่ยังคงเป็นรูปเดิมอยู่ ต่อมา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงมีการก่อสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์เรื่อยมา จนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน จึงทำให้วัดมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก

วัดพิชยญาติการามวรวิหาร หรือ วัดพิชัยญาติ ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธ

วัดพิชยญาติการามวรวิหาร หรือ วัดพิชัยญาติ ตั้งอยู่เชิงสะพานพุทธ บริเวณที่เดิมเรียกว่าวงเวียนเล็ก ในแขวงสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ริมคลองบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เขตคลองสาน เดิมเป็นวัดร้าง แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ (ทัต บุนนาค) ครั้งมีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาศรีพิพัฒน์ราชโกษา ได้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ ในรัชกาลที่ 3 เนื่องจากสมเด็จเจ้าพระยาองค์น้อยขณะนั้นเป็นจางวางพระคลังสินค้า มีเรือสำเภาค้าขายกับจีน จึงได้นำอับเฉาเรือ กระเบื้องสี และหินมาจากจีน สถาปัตยกรรมวัดนี้มีลักษณะแบบไทยผสมจีน ซึ่งเป็นแบบพระราชนิยมในสมัยนั้น เมื่อบูรณะวัดเสร็จแล้ว ได้น้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 พระราชทานนามว่า “วัดพระยาญาติการาม” ในสมัยรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเปลี่ยนชื่อวัดใหม่เป็น “วัดพิชยญาติการาม” หรือที่คนทั่วไปเรียกกันว่า “วัดพิชัยญาติ”

พระอุโบสถ สร้างเป็นศิลปะแบบจีน ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา เนื่องจากสมัยก่อนเป็นวัดอยู่ในสวน จึงสร้างเพื่อหลบบรรดากิ่งไม้ ผลไม้ที่จะหล่นหรือหักไปกระทบหลังคาพระอุโบสถได้ องค์พระประธานในอุโบสถ เป็นพระพุทธรูปปั้น ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปโบราณรุ่นเดียวกับพระพุทธชินราชชินศรี โดยอัญเชิญมาจากวัดพระวิหาร หลวงเมืองพิษณุโลก นามว่า “พระสิทธารถ” หรือที่ชาวบ้านทั่วไปจะเรียกท่านว่า “หลวงพ่อสมปรารถนา” ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก พระพุทธรูปประดิษฐานหน้าองค์พระประธาน เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย โดยสมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงหล่อเมื่อ พ.ศ. 2465 นามว่า พระวรวินายก พระปรางค์องค์ใหญ่ วัดโดยรอบ 33 วา 2 ศอก ส่วนสูงตลอดยอดนภศูล 21 วา 1 ศอก 10 นิ้ว เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปั้น 4 องค์ หันพระพักตร์ไปสู่สี่ทิศ มีพระปรางค์องค์เล็ก 2 องค์ ขนาดวัดโดยรอบ 15 วา ส่วนสูงตลอดนภศูล 11 วา 1 ศอก 1 คืบ 2 กระเบียด ทิศตะวันออกเป็นที่ ประดิษฐานพระโพธิสัตว์พระศรีอาริย์ องค์ทิศตะวันตกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง 4 รอย จำหลักด้วยแผ่นศิลา สัณนิฐานกันว่าเป็นของเก่า แต่ไม่ทราบว่านำมาจากที่ไหน

วัดชนะสงคราม เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา

วัดชนะสงคราม เป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา ไม่ปรากฏหลักฐานการสร้าง เดิมเรียกว่าวัดกลางนา ต่อมาถูกยกสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี มีพระราชประสงค์ที่จะสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวังได้ทรงปฏิสังขรณ์ใหม่ ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสม โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อวัดกลางนาเป็นวัดตองปุ และให้เป็นวัดพระสงฆ์ฝ่ายรามัญ เช่นเดียวกับวัดตองปุที่กรุงศรีอยุธยา เพื่อเทิดเกียรติทหารชาวรามัญในกองทัพสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในการต่อสู้กับพม่าในสงครามเก้าทัพ สงครามที่ท่าดินแดงและสามสบ และสงครามที่นครลำปางป่าซาง

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดตองปุแล้วถวายเป็นพระอารามหลวงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า วัดชนะสงคราม เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงมีชัยชนะต่อพม่าในการรบทั้ง 3 ครั้ง

วัดชนะสงครามได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์มาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงเริ่มดำเนินการก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิเจ้านายฝ่ายกรมพระราชวังบวรสถานมงคลที่เฉลียงพระอุโบสถด้านหลังตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระพันปีหลวงทรงพระราชอุทิศพระราชทรัพย์ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์ดำเนินการ แต่การก่อสร้างมาแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งพระราชทานพระราชทรัพย์ให้ราชบัณฑิตยสภาดำเนินการก่อสร้าง ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นนายกราชบัณฑิตยสภาและสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงดำเนินการก่อสร้างจนเสร็จสิ้น ได้มีพิธีอัญเชิญพระอัฐิจากพระราชวังบวรสถานมงคลไปประดิษฐาน

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอำนาจอยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12 กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ถนนจรดวิถีถ่อง

ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้าหรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองครั้งแรกตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 โครงการฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร”

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ตั้งชื่อตามพระยาสุรินทราชา นกยูง วิเศษกุล เทศาเมืองภูเก็ต ผู้ค้นพบเกาะ เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดพังงา มีลักษณะเป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน อยู่ติดกับชายแดน ไทย – พม่า มีพื้นที่ประมาณ 84375 ไร่ ร้อยละ 76 ของพื้นที่เป็นทะเล ส่วนที่เหลือเป็นแผ่นดิน ประกอบด้วยเกาะ 5 เกาะ คือ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะไข่ เกาะตอรินลา เกาะกลาง เกาะปาจุมบา เกาะรี เกาะสต๊อก และ 1 กองหินปริ่มน้ำ คือกองหินริเชลิว เป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2524 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 29 ของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์นับว่ามีธรรมชาติที่สมบูรณ์ทั้งบนบกและในทะเล มีทั้งป่าดิบชื้น ป่าชายหาด ป่าชายเลนมาประจบกับแนวปะการัง แนวปะการังมีความสมบูรณ์ เหมาะสำหรับชมปะการังน้ำตื้น โดยกองหินริเชริว เหมาะสำหรับดำน้ำลึก เป็นแหล่งสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติใต้ทะเล มีปลาหลายชนิด มีโอกาสพบฉลามวาฬ ช่วงเวลาที่เหมาะกับการท่องเที่ยว คือ เดือนพฤศจิกายนถึง เดือนเมษายน และ หอยมือเสือ ปูเสฉวน นกกระแตผีชายหาด นกชาปีไหน รวมทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น บ่าง

หมู่เกาะสุรินทร์ จะเป็นเกาะที่วางตัวอยู่ในกลุ่มอ่าวขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงสามารถที่จะเป็น ที่บังคลื่นลมได้ดี ทั้งสองฤดู คือ ฤดูร้อน และฤดูฝน จึงเป็นแหล่งกำเนิดแนวปะการังน้ำตื้น ที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านของชาวเลเลกลุ่มสุดท้ายที่ยังดำรงวัฒนธรรมดั้งเดิมมากที่สุด คือ “มอแกน” หรือ “ยิบซีแห่งท้องทะเล” ประมาณ 200 คนปัจจุบันได้ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่เกาะสุรินทร์ใต้ ขายของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว และบางส่วนทำงานเป็นลูกจ้างของอุทยานฯ

อุทยานแห่งชาติเขานัน

อุทยานแห่งชาติเขานัน มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอนบพิตำ อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงทอดยาวตามแนวเหนือ-ใต้ สลับซับซ้อน โดยเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช สภาพป่าเป็นป่าดงดิบชื้นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช และประกอบไปด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญ และมีค่า มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกสุนันทา (น้ำตกเขานัน) น้ำตกกรุงนาง น้ำตกคลองเผียน ถ้ำกรุงนาง น้ำตกเขาใด เป็นต้น มีเนื้อที่ประมาณ 272,500 ไร่ หรือ 436 ตารางกิโลเมตร

ในการสำรวจเบื้องต้นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ซึ่งตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอท่าศาลา และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งพื้นที่ที่ทำการสำรวจนี้เป็นพื้นที่ติดต่อผืนเดียวกัน กับอุทยานแห่งชาติเขาหลวง และอุทยานแห่งชาติใต้ร่มเย็น เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขานครศรีธรรมราช อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่ากรุงชิง ป่าเขานัน และป่าคลองเผียน ท้องที่อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ประมาณ 388,232 ไร่ หรือ 601 ตารางกิโลเมตร ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ให้ นายลือสัก สักพันธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 4 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จากการสำรวจในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งมีพื้นที่กว้างขวางพบมีการบุกรุกแผ้วถางป่า และทำไม้อยู่เป็นบางส่วนแต่ในอุทยานแห่งชาติเขานัน มีกำลังเจ้าหน้าที่ และงบประมาณไม่เพียงพอ ต่อการที่จะออกตรวจป้องกันและปราบปราม ซึ่งในการดำเนินการสำรวจในครั้งนี้ไม่แล้วเสร็จเนื่องจากไม่ได้กำหนดบริเวณพื้นที่ และไม่ได้จัดทำแผนที่แสดงแนวเขตที่จะประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวง เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในจังหวัดระยองและจังหวัดจันทบุรี มีเนื้อที่ประมาณ 52,300 ไร่ หรือ 83.68 ตารางกิโลเมตร

ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2518 ซึ่งมีมติให้กำหนดบริเวณขาชะเมา-เขาวงเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื่องจากมีสภาพเป็นป่าที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธารของจังหวัดระยอง และมีสัตว์ป่าชุกชุม โดยได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาชะเมาในท้องที่ตำบลทุ่งควายกิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และตำบลแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี และป่าเขาวงในท้องที่ตำบลกองดิน อำเภอแกลง จังหวัดระยอง และตำบลนายายอาม อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 92 ตอนที่ 267 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2518 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 13 ของประเทศไทย

อุทยานแห่งชาติเขาชะเมา-เขาวงมีลักษณะภูมิประเทศบริเวณเขาชะเมาเป็นเทือกเขาสูงชัน เป็นสันเขามีความลาดเทปานกลาง และพื้นที่ไหล่เขาค่อนข้างชัน จุดสูงสุดสูงจากระดับน้ำทะเล 1,024 เมตร และจุดต่ำสุดสูงจากระดับน้ำทะเล 51 เมตร ลักษณะภูมิประเทศบริเวณเขาวงเป็นลักษณะเขาลูกโดดหรือมียอดเขาหลายยอด เกิดจากการละลายตัวของหินปูน มีลักษณะแอ่งหินปูน หลุมยุบ และถ้ำ จุดสูงสุดสูงจากระดับน้ำทะเล 162 เมตร และจุดต่ำสุดสูงจากระดับน้ำทะเล 96 เมตร

พืชพรรณเป็นสังคมของป่าดิบชื้นมีพื้นที่ร้อยละ 80 สังคมป่าดิบเขามีพื้นที่ร้อยละ 10 สังคมป่าดิบแล้งมีพื้นที่ร้อยละ 8 และสังคมป่าเขาหินปูน มีพื้นที่ร้อยละ 2

อุทยานแห่งชาติสาละวิน

อุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นอุทยานแห่งชาติ มีสภาพป่าไม้สมบูรณ์ ทิวทัศน์และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งแต่เดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ “ป่าสาละวิน” ตั้งอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเขตอำเภอสบเมย และ อำเภอแม่สะเรียง มีพื้นทีทั้งหมด 450,950 ไร่ (721.25 ตารางกิโลเมตร) มีพื้นที่ติดชายแดนระหว่างประเทศไทย และ ประเทศพม่า หลังจากรัฐบาลได้ยกเลิกสัมปทานป่าไม้แล้ว

อุทยานแห่งชาติสาละวิน มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย กับที่ราบริมฝั่งน้ำ มีความสูงจากระดับน้ำทะเล สูงสุด 1,027 เมตร ต่ำสุด 200 เมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด อยู่ทางทิศเหนือ บริเวณอุทยาน ปกคลุมไปด้วยสภาพป่าที่อุดมของป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และยังเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของแม่น้ำยวม แม่น้ำสาละวิน แม่น้ำกองคา แม่น้ำแม่แงะ และแม่น้ำหาร มีแหล่งน้ำอุปโภคบริโภคตามธรรมชาติ ได้แก่ แม่น้ำสาละวิน น้ำแม่ก๋อน น้ำแม่กองคา น้ำแม่แง น้ำแม่ปอ น้ำแม่เวน น้ำแม่สามแลบ แม่น้ำยวม ห้วยกองก๊าด ห้วยแม่สะเกิบ ห้วยแม่ละมอง ห้วยแม่สะลาบ ห้วยวอก ห้วยบง ห้วยอีนวล ห้วยโผ ห้วยแม่แต๊ะ ห้วยแม่อมลอง และ ห้วยแม่สามบาก

สภาพป่าในอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นป่าที่มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก ทำให้มีทั้ง ป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ซึ่งพันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ที่พบในอุทยานแห่งชาติสสาละวิน เช่น ไม้ประดู่ ตะเคียนหมู สักแดง ตะเคียนทอง ชิงชัน มะค่าโมง เต็ง รัง พลวง เป็นต้น อุทยานแห่งชาติสาละวิน มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย เช่น หาดแท่นแก้ว, หมู่บ้านท่าตาฝั่ง, แม่น้ำกองคา, บ้านโพซอ-เสาหิน, วนอุทยานแห่งชาติถ้ำแก้วโกมล, ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่เหาะ, วัดกิตติวงศ์, วัดจองสูง, วัดจอมทอง, บ้านกะเหรี่ยงพะมอลอ, พระธาตุจอมมอญ และ ถ้ำเงา เป็นต้น

ทุ่งแสลงหลวง ทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งเมืองไทย

ทุ่งแสลงหลวง หรือที่รู้จักกันดีในนาม “ทุ่งหญ้าสะวันนาแห่งเมืองไทย” เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศ มีเนื้อที่ประมาณ 789,000 ไร่หรือ 1,262.40 ตารางกิโลเมตร ทุ่งแสลงหลวงมีพื้นที่ครอบคลุม อ.วังทอง อ.นครไทย อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และใน อ.เขาค้อ อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ สำหรับชื่อของอุทยานแห่งชาติมีการสันนิษฐานว่ามีการตั้งชื่อตามพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ป่าแห่งนี้ คือ ต้นแสลงใจ ซึ่งมีขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ประกอบกับมีสภาพภูมิประเทศเป็นเนิน มีป่าหลายชนิด และสัตว์ป่าชุกชุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2502 ป่าทุ่งแสลงหลวงและพื้นที่ป่าอื่นๆในจังหวัดต่างๆ ได้รับการก่อตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมีสภาพธรรมชาติ และลักษณะทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้สัตว์ป่านานาชนิดซึ่งเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยว

พื้นที่อุทยานตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่าง จ.พิษณุโลกและ จ.เพชรบูรณ์มีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 500 เมตรจากระดับน้ำทะเลมียอดเขาที่สูงที่สุดคือ บริเวณเขาแค สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,028 เมตรสภาพอากาศโดยทั่วไปมีอุณหภูมิที่เหมาะสมเหมาะแก่การไปท่องเที่ยว โดยเฉพาะ

อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวงมีพื้นที่ที่น่าท่องเที่ยวมากมายสามารถเลือกเที่ยวชมได้ อาทิเช่น น้ำตกแก่งโสภา ทุ่งนางพญา ทุ่งโนนสน ทุ่งแสลงหลวง แก่งวังน้ำเย็น น้ำตกซอนโสม ถ้ำเดือน-ดาว ถ้ำพระวังแดง และถ้ำค้างคาว ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นสถานที่ที่มีความงดงามทางธรรมชาติ และมีการพบจระเข้น้ำจืดสายพันธุ์ไทย หรือ จระเข้สยาม บริเวณคลองชมพู อีกด้วย การเดินทางเข้าสู่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง สามารถใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 สายพิษณุโลก มีระยะทางประมาณ 80 กิโลเมตร